วันอาทิตย์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2557



การใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมสถานที่เที่ยวในประเทศ


การท่องเที่ยวนับเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของโลกซึ่งมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในแทบทุกภูมิภาคของโลก  ในปี ค.ศ.1950 จำนวนนักท่องเที่ยวมีจำนวนเพียง 25 ล้านคนขณะที่ปี ค.ศ.2006 มีจำนวนนักท่องเที่ยวถึง 846  ล้านคน องค์การท่องเที่ยวโลก(UNWTO)พยากรณ์ไว้ว่าในปี ค.ศ.2020 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า(องค์การท่องเที่ยวโลก , 2552.) ปัจจุบันพบว่าการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยหลายด้านไม่ว่าจะเป็น ทางสังคม  เศรฐกิจ เทคโนโลยี และ ปัจจัยทางการเมือง ในจังหวัดที่มีศักยภาพการท่องเที่ยวสูง การท่องเที่ยวได้ช่วยยกระดับมาตราฐานชีวิตของคนในท้องถิ่นอย่างทั่วถึง แม้ในท้องถิ่นธุรกันดาร การท่องเที่ยวก็ยังช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชนในท้องถิ่นนั้นๆให้ดีขึ้น ในทุกช่วงเวลาที่ผ่านไปมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่กำลังสืบค้นสถานที่ท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ  เพื่อที่จะใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกท่องเที่ยว ไปในสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก   จากการสอบถามผู้ที่กำลังวางแผนท่องเที่ยวทั่วไปพบว่า  นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะคำนึงถึงความสะดวกสบาย  ความรวดเร็ว ความน่าเชื่อถือ และความปลอดภัยของสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ    ในการเดินทางท่องเที่ยว  นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีความจำเป็นต้องสืบค้นข้อมูล ของสถานที่ท่องเที่ยว  โดยไม่ต้องเดินทางไปสำรวจจริง แต่ได้ข้อมูลครบถ้วนถูกต้องและรวดเร็ว




การประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว และอำนวยความสะดวกข้อมูลให้แก่ผู้ที่กำลังวางแผนการท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่ควรเร่งพัฒนาเพื่อส่งเสริมให้กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจด้านท่องเที่ยวสามารถแข่งขันกับต่างชาติได้  อุปสรรค ในการดำเนินการเชิงรุกคือผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจกับการพัฒนาสื่อมัลติมีเดีย มากนักเพราะคิดว่าประเทศไทยมีศักยภาพด้านแหล่งท่องเที่ยวจึงไม่ต้องพึ่งโลกอินเตอร์เนท ขณะที่ต่างประเทศเช่น สิงคโปร์ และมาเลเซียมีการนำเทคโนโลยีสื่อเข้ามาใช้เป็นสื่อกลางและประสบความสำเร็จมาก ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในประเทศไทย จึงควรมีกลยุทธเพื่อตอบโต้ แย่งชิงและครอบครองพื้นที่การตลาดให้ได้นานที่สุด วิธีการนำเสนอเพื่อให้ผู้วางแผนการท่องเที่ยวสนใจและตัดสินใจมาท่องเที่ยวนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้ดำเนินการต้องค้นคว้าวิจัย เพื่อให้ได้แนวทางในการดำเนินการให้แผนกลยุทธประสบความสำเร็จ วิธีการนำเสนอที่จะดำเนินการวิจัยนี้จำเป็นต้องทำงานอยู่บนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ โดยมองระบบเครือข่ายเป็นเครื่องมือ เนื่องจากยุคนี้เป็นยุคแห่งสังคมสารสนเทศ ข้อมูลข่าวสารหรือสารสนเทศได้กลายเป็นทรัพยากรที่มีนัยสำคัญเพิ่มมากขึ้น  ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ที่มีการพัฒนากันหลากหลายรูปแบบ เครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่มีการใช้งานครอบคลุมพื้นที่และมีจำนวนคนใช้งานมากที่สุด รวมทั้งมีอัตราการเจริญเติบโตสูงสุด(สุภางค์ กุณวงษ์ และดารารัตน์ จุฬาพันธุ์. 2540 : 39 ) ปัจจุบันมีสื่อมัลติมีเดียเพื่อการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวเกิดขึ้นจำนวนมาก สังเกตุได้จากการสืบค้นผ่าน Search engine เช่น Googel ,Yahoo (ชฎิล แก้วปลั่ง. 2543 : 3) ดังนั้นการจัดทำเว็บไซต์สื่อมัลติมีเดียเพื่อการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศให้เป็นเว็บไซต์ที่เป็นที่นิยมและบรรลุเป้าหมายนั้นจำเป็นต้องมีการค้นคว้าวิจัยเพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมให้มากที่สุด





การดำเนินการวิจัยครั้งนี้ได้ยกตัวอย่าง บ้านรวมมิตร ตำบลแม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย เป็นกรณีศึกษา เพื่อหาวิธีการสร้างสื่อมัลติมีเดียที่สามารถประชาสัมพันธ์อย่างมีประสิทธิภาพ อันเนื่องมากจากหมู่บ้านรวมมิตรเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สำคัญของจังหวัดเชียงรายแห่งหนึ่ง ภายในหมู่บ้าน มีชนเผ่าจำนวน 9 เผ่า มีพื้นที่เหมาะแก่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ภายในหมู่บ้านมีการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศมากมายเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มนักท่องเที่ยว เช่น การประกอบกิจการ การล่องแพเพื่อชมวิถีชีวิตของผู้คนสองข้างทางของลำน้ำกก สินค้าหัตถกรรมของหมู่บ้าน แต่ในปัจจุบันยังไม่เป็นที่รู้จักกับนักท่องเที่ยวมากนัก   เนื่องจากขาดการประชาสัมพันธ์ให้กับนักท่องเที่ยว  รวมทั้งชุมชนยังไม่เห็นถึงความสำคัญของการให้ข้อมูลการท่องเที่ยวแก่นักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้ามาเที่ยวชมในหมู่บ้านอันเนื่องมาจากงบประมาณที่ได้จัดสรรเพื่อส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ยังไม่เพียงพอและความรู้ในการประชาสัมพันธ์ที่ถูกต้อง
จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น  ทำให้ผู้ศึกษามีความสนใจในการพัฒนาเว็บไซต์ สื่อมัลติมีเดีย  เพื่อหาแนวทางการพัฒนาสื่อมัลติมีเดียสำหรับประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ  ให้บังเกิดผลสัมฤทธิ์ ซึ่งการศึกษาครั้งนี้จะสามารถนำผลการศึกษามาใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่เหมาะสม ในการพัฒนาและปรับปรุงประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ แหล่งอื่นๆ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้วางแผนการท่องเที่ยวที่เลือกใช้อินเตอร์เนทเป็นช่องทางในการค้นหาข้อมูลเพื่อตัดสินใจเลือกท่องเที่ยวและส่งผลให้สาธารณชนสามารถเข้ามาท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศมากยิ่งขึ้นในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น